การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ

ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๔๐๐๖/ว๑๔๗๘ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๖ แจ้งเรื่อง การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ) ครั้งที่ ๑  เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนดำเนินการโครงการผ่านช่องทางออนไลน์  https://ssra.info  ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ นั้น

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการโครงการตามคู่มือการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ และแจ้งให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินการโครงการผ่านช่องทางออนไลน์  https://ssra.info  ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึง ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๖  ทั้งนี้
หากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อผ่านทาง Line OpenChat ตาม QR – Code ดังแนบ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาและรับรองโรงเรียนตามเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ

ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แจ้งให้สำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาและรับรองโรงเรียนตามเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดและเสนอรายชื่อโรงเรียนพร้อมข้อมูลประกอบการ
พิจารณาไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพิจารณากำหนดเป็นโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่
ลักษณะพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๖ และได้ประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่ตั้งในพื้นที่
ลักษณะพิเศษ (พื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) ตามโครงการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ
ทางการศึกษาในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๖ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ยืนยันและทบทวนรายชื่อสถานศึกษาที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (พื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ)
และดำเนินการ ดังนี้
๑. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ยืนยันและทบทวนรายชื่อโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะ
พิเศษ (พื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) เดิม ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เรื่อง กำหนดสถานศึกษาที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (พื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) ตามโครงการ
สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๖
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
๒. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งโรงเรียนในสังกัดที่ขอทบทวนกรณีตกหล่น
ดำเนินการคัดกรองโรงเรียนตามคู่มือเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ผ่านช่องทาง
ออนไลน์ https://ssra.info ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๖
๓. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ยืนยันรายชื่อโรงเรียนตามประกาศเดิม รับรองรายชื่อ
โรงเรียนที่ขอทบทวนกรณีตกหล่นที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ
และผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองระดับเขตพื้นที่การศึกษา จัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์ถึงสำนักนโยบาย
และแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖

จัดทำแนวทางการสนับสนุนงบประมาณ โรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ปีงบประมาณ 2565

 

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการพัฒนา พบว่า โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะยังมีปัญหาสะสมหลายด้าน อาทิเช่น เด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เด็กขาดทักษะอาชีพ ขาดทักษะชีวิตและภูมิคุ้มกันที่ดี ขาดจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ประกอบกับในปัจจุบัน สถานการณ์ของโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งเป็นผลกระทบเชิงลบในด้านสุขภาพของประชากรโลก จึงได้มีการดำเนินการส่งเสริมการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และสถานการณ์ดังกล่าว

นโยบายเร่งด่วน สพฐ

โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการให้โรงเรียนในโครงการ นำไปส่งเสริม พัฒนาและแก้ไขปัญหา โดยมุ่งเน้น การพัฒนาทักษะวิชาการ การพัฒนาการจัดประสบการณ์เพื่อแก้ไขภาวะถดถอยทางพัฒนาการ Learning Loss การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย การเรียนรู้โดยใช้ Active Learning การพัฒนาการอ่านและการเขียนภาษาไทยเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของผู้เรียน การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ให้สถานศึกษามีระบบเสริมสร้างความปลอดภัยตามบริบทของสถานศึกษา ส่งเสริมนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองดูแลช่วยเหลือเยียวยาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สามารถเผชิญเหตุและแก้ไขสถานการณ์ได้ การพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านอาชีพ ส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ที่ฝึกฝนและพัฒนาทักษะจากการปฏิบัติจริง การพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานโรงเรียนพักนอน ที่สนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เหมาะสม มีความปลอดภัยของสถานที่พักนอน โครงสร้างพื้นฐาน ตามบริบทความจำเป็นของโรงเรียน การซ่อมแซมหอพักนักเรียน บ้านพักครู ห้องน้ำ ห้องส้วม และระบบสาธารณูปโภค เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดสรรงบประมาณในดำเนินงานในปี 2565 มายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยคำนึงถึงจำนวน ขนาดของโรงเรียนรวมทั้งความยากยุ่งยากของการจัดการศึกษาในการจัดสรรงบประมาณ ตามวิสัยทัศน์ของการพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ “การศึกษาขั้นพื้นฐานวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ”เพื่อใช้ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนในโครงการได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ ต่อไป

ครู 1 คน กับนักเรียนบนพื้นที่สูง ใช้ ว PA อย่างไรให้ครูไทยเท่าเทียม

การที่เราทำเพื่อเด็กจริง ๆ วัดผลที่เด็กจริง ๆ จะเกิดประโยชน์และคุณค่าต่อเด็ก ๆ สุดท้ายสิ่งนั้นก็จะให้คุณค่ากับเราซึ่งเป็นครูด้วย . ว PA คือผลพลอยได้จากการที่เราทำงานให้เด็ก บริบทโรงเรียนที่ผมอยู่ไม่เหมือนกับโรงเรียนข้างล่าง ถ้ามีกรอบวัดที่เหมือนกันทุกคน ให้โอกาสครูที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารได้ทำ ได้จัดการศึกษาให้กับเด็กตามบริบทจริง วัดผลจากห้องเรียนจริง ผมคิดว่าทุกคนก็ทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ศุภฉันท์ ธนะปัด ครูโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน (ห้องเรียนสาขาบ้านห้วยลัวะ)

การเดินทางที่แสนหฤโหดสู่ โรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย

นางอำไพ มณีวรรณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ตั้งแต่ วันที่ 2 ตุลาคม 2550 โรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย ตั้งอยู่หมู่บ้านปิยอทะ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนขนาดกลางมีนักเรียน จำนวน 151 คน มีครูจำนวน 11 คน เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

สารคดี “ครูหลังเขา” โรงเรียนบ้านสว้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

เรื่องราวของความเสียสละของครูบนดอยกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน พัฒนาการศึกษาไทยบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร พวกเขาเหล่านี้ทำหน้าที่มากกว่าการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน…ครูหลังเขา มุมมองของการบริหาร น้ำในโรงเรียนพื้นี่พิเศษ

ส่งต่อ “โอกาส” นำความเสมอภาคทางการศึกษา​สู่พื้นที่ทุรกันดาร

จาก “โอกาส” ที่เคยได้รับ กลายเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้ เด็กคนหนึ่งตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะตั้งใจเรียนเพื่อเป็น “ครู” กลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด ส่งต่อโอกาสที่เขาเคยได้รับในวันนั้นให้กับเด็กคนอื่นๆ ได้รับสิ่งดีๆ เหล่านั้นบ้าง

จนกระทั่งเป้าหมายในวันนั้นกลายเป็นความจริง แม้ ดร.พิเศรษฐ์ ไชยสุภา จะมี “ทางเลือก” ไปอยู่ รร.ขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแน่วแน่เขาเลือกกลับมาตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งสา จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เขาเคยเรียนในวัยเด็ก และมุ่งมั่นตั้งใจทำงานจนเห็นผลความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงตลอดสองปี ก่อนที่จะย้ายไป​ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3​ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

“เพราะตอนเด็กที่บ้านยากจน เราได้สัมผัสกับคุณครูที่ดูแลเหมือนเป็นพ่อแม่อีกคน เอาใจใส่ ช่วยเหลือทุกด้าน พาเราไปสมัครเรียนต่อในเมือง จนมีวันนี้ ทำให้เราประสบความสำเร็จ เหมือนเป็นไอดอลของเรา ​เมื่อซึมซับความเมตตาตรงนี้เราก็อยากเป็นครูทดแทนบ้านเกิดให้ได้สักครั้ง” ดร.พิเศรษฐ์ กล่าว

ติดตามโครงการฯ โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารฯ

นายสุวิทย์ บั้งเงิน ศึกษานิเทสก์ ชำนาญการพิเศษ นางสินีภัทร์ วงศารัตนะ นักวิชาการศึกษา สพป.เชียงราย 2 ได้นิเทศติดตามโครงการพัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ) ปีงบประมาณ 2564 ณ โรงเรียนริมวัง 2 อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งโรงเรียนได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผลสัมฤทธิ์ทางภาษาไทย และขอขอบคุณท่านคณะกรรมการฯที่ได้ให้คำแนะนำ มา ณ โอกาสนี้

การเตรียมประเมินเพื่อคัดกรองเป็นโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่ “สร้างคุณภาพผู้เรียน สู่สังคมอนาคตอย่างยั่งยืน” โดยมีพันธกิจที่สำคัญสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนและโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลักษณะพิเศษ คือ จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาสถานศึกษาให้มีความปลอดภัยแก่ผู้เรียน และสร้างโอกาส ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้เรียนทุกคนได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (พื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) เป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ประชากรวัยเรียนในพื้นที่ให้ได้รับการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมกับบริบท ซึ่งเป็นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยังสอดคล้องกับปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสอีกด้วย แต่เนื่องจากการจัดการศึกษาที่ผ่านมาเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (พื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) มีความยุ่งยาก เนื่องจากประสบปัญหาการคมนาคมที่ยากลำบาก นักเรียนจำนวนหนึ่งมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน ไม่สามารถเดินทางไป – กลับในวันเดียวได้ การเข้าถึงบริการทางการศึกษาเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่เกาะ พื้นที่ห่างไกล หรือตามแนวตะเข็บชายแดน มีความแตกต่างทั้งด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ครอบครัวมีฐานะยากจนจำเป็นต้องดิ้นรนกับการหาเลี้ยงชีพมากกว่าการส่งเสริมให้บุตรหลานได้รับการศึกษา จากสภาพดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของสภาพปัญหาข้างต้น จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ)” มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา และเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพบริบทในแต่ละพื้นที่โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ของการพัฒนา คือ “ประชากรวัยเรียนของโรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มีทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข” เป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานตามบริบทแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และมีคุณภาพ ให้สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนที่ดีขึ้นทั้งด้านทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาปัจจุบันยังคงมีอุปสรรคตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพของการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร) ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายอันจะเป็นการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการคัดกรองโรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร ให้ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหาของพื้นที่ โดยกำหนดหลักการและเกณฑ์ในการคัดกรองและระบุโรงเรียนเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อใช้วางแผนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสามารถสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อนุมัติให้ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ) ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ณ ห้องประชุม สนผ.๑ อาคาร สพฐ.๕ ชั้น ๘ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษผ่านช่องทางเว็บไซต์ โดยกำหนดระยะเวลาตามสมควร และให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย โดยสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการจัดส่งร่างคู่มือการคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เกี่ยวข้องให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างคู่มือเกณฑ์การคัดกรอง ฯ โดยมีกำหนดปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการคัดกรอง ฯ ดังกล่าว ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๕ และได้อนุมัติให้ประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร (รายละเอียดดังแนบ ๑) เพื่อนำผลจากข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ และดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว (รายละเอียดดังแนบ ๒ และ ๓) สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงขอประกาศใช้คู่มือเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ เพื่อดำเนินการคัดกรองโรงเรียนและประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษแต่ละประเภทต่อไป

                    ในการนี้ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นควรแจ้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง ใช้คู่มือเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ
เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงและให้ดำเนินการ ดังนี้

๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัด เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ผ่านช่องทางออนไลน์ https://www.ssra.info/ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕

๑.๑ โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการคัดกรองโรงเรียน ผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.ssra.info/ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.

๑.๒ โรงเรียนพื้นที่เกาะ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการคัดกรองโรงเรียน ผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.ssra.info/ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.

๒. แจ้งโรงเรียนในสังกัด ดำเนินการคัดกรองโรงเรียนตามเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.ssra.info/ ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕

๓. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับรองรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษและผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองระดับเขตพื้นที่การศึกษา จัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์
ถึง สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕