โรงเรียนพื้นที่เกาะ » การเตรียมประเมินเพื่อคัดกรองเป็นโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ

การเตรียมประเมินเพื่อคัดกรองเป็นโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ

7 May 2565
4471   0

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่ “สร้างคุณภาพผู้เรียน สู่สังคมอนาคตอย่างยั่งยืน” โดยมีพันธกิจที่สำคัญสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนและโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลักษณะพิเศษ คือ จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาสถานศึกษาให้มีความปลอดภัยแก่ผู้เรียน และสร้างโอกาส ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้เรียนทุกคนได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (พื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) เป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ประชากรวัยเรียนในพื้นที่ให้ได้รับการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมกับบริบท ซึ่งเป็นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยังสอดคล้องกับปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสอีกด้วย แต่เนื่องจากการจัดการศึกษาที่ผ่านมาเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (พื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ) มีความยุ่งยาก เนื่องจากประสบปัญหาการคมนาคมที่ยากลำบาก นักเรียนจำนวนหนึ่งมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน ไม่สามารถเดินทางไป – กลับในวันเดียวได้ การเข้าถึงบริการทางการศึกษาเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่เกาะ พื้นที่ห่างไกล หรือตามแนวตะเข็บชายแดน มีความแตกต่างทั้งด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ครอบครัวมีฐานะยากจนจำเป็นต้องดิ้นรนกับการหาเลี้ยงชีพมากกว่าการส่งเสริมให้บุตรหลานได้รับการศึกษา จากสภาพดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของสภาพปัญหาข้างต้น จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ)” มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา และเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพบริบทในแต่ละพื้นที่โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ของการพัฒนา คือ “ประชากรวัยเรียนของโรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มีทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข” เป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานตามบริบทแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และมีคุณภาพ ให้สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนที่ดีขึ้นทั้งด้านทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาปัจจุบันยังคงมีอุปสรรคตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพของการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร) ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายอันจะเป็นการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการคัดกรองโรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร ให้ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหาของพื้นที่ โดยกำหนดหลักการและเกณฑ์ในการคัดกรองและระบุโรงเรียนเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อใช้วางแผนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสามารถสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อนุมัติให้ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ (โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพื้นที่เกาะ) ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ณ ห้องประชุม สนผ.๑ อาคาร สพฐ.๕ ชั้น ๘ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษผ่านช่องทางเว็บไซต์ โดยกำหนดระยะเวลาตามสมควร และให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย โดยสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการจัดส่งร่างคู่มือการคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เกี่ยวข้องให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างคู่มือเกณฑ์การคัดกรอง ฯ โดยมีกำหนดปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการคัดกรอง ฯ ดังกล่าว ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๕ และได้อนุมัติให้ประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร (รายละเอียดดังแนบ ๑) เพื่อนำผลจากข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ และดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว (รายละเอียดดังแนบ ๒ และ ๓) สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงขอประกาศใช้คู่มือเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ เพื่อดำเนินการคัดกรองโรงเรียนและประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษแต่ละประเภทต่อไป

                    ในการนี้ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นควรแจ้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง ใช้คู่มือเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ
เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงและให้ดำเนินการ ดังนี้

๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัด เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ผ่านช่องทางออนไลน์ https://www.ssra.info/ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕

๑.๑ โรงเรียนพื้นที่ภูเขาสูงในถิ่นทุรกันดาร เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการคัดกรองโรงเรียน ผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.ssra.info/ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.

๑.๒ โรงเรียนพื้นที่เกาะ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการคัดกรองโรงเรียน ผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.ssra.info/ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.

๒. แจ้งโรงเรียนในสังกัด ดำเนินการคัดกรองโรงเรียนตามเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษ ผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.ssra.info/ ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕

๓. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับรองรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่ลักษณะพิเศษและผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองระดับเขตพื้นที่การศึกษา จัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์
ถึง สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕